ความสำคัญของนมแม่ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่คือการให้ความรัก การให้นมลูก

ลักษณะและแนะนำคุณแม่เลี้ยงลูกแฝด



สมัยก่อนการตรวจพบลูกแฝดนั้นทำได้ไม่ง่ายนัก แม้แต่หมอสูติฯ ที่ชำนาญ บางครั้งกว่าจะรู้ว่าเป็นลูกแฝดก็ต่อเมื่อคลอดคนแรกออกมาแล้ว พ่อแม่ลูกแฝดจึงมักไม่รู้ตัวล่งหน้าว่าจะได้ลูกแฝด ทำให้ตระเตรียมอะไรไม่ค่อยทัน มีบางคนถึงกับแยกลูกออก เอาไปให้คนอื่นช่วยเลี้ยงเสียคนหนึ่ง

ปัจจุบัน วิทยาการทางการแพทย์เจริญก้าวหน้าไปมาก คุณแม่สามารถจะทราบได้ว่าทารกในครรภ์เป็นแฝดหรือไม่ โดยการตรวจด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า อัลตราซาวนด์ เมื่ออายุครรภ์ได้ 4 เดือน

จริงอยู่ที่ว่าการเลี้ยงลูกแฝดนั้นยากลำบากกว่าการเลี้ยงลูกคนเดียว โดยเฉพาะในระยะแรก ๆ ซึ่งคุณแม่ยังไม่คุ้นเคย แต่การเลี้ยงลูกแฝดก็ไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรงคุณแม่นัก แม้แต่คุณแม่ที่ไม่มีเด็กรับใช้คอยช่วยทำงานบ้าน ถ้าคุณจัดระบบงานบ้านให้ดี ก็สามารถเลี้ยงลูกทีเดียวสองคนได้

การเลี้ยงลูกแฝดตอนแรก ๆ อาจลำบาก แต่เมื่อเด็กโตขึ้นเริ่มรับรู้เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมแล้ว ลูกแฝดจะช่วยคุณได้มาก เพราะเด็กจะมีเพื่อนเล่น ไม่กวนคุณมาเหมือนลูกคนเดียว ตัวคุณพ่อคุณแม่เองก็คงมีความสุขเป็นสองเท่า เพราะได้เห็นความเจริญเติบโตของลูกพร้อมกันทีเดียวสองคน ถึงแม้การเลี้ยงลูกสองคนจะเหนื่อย คุณก็ไม่ควรจะแยกลูกไปให้คนอื่นเลี้ยง เพราะเมื่อโตขึ้นกลับมาอยู่บ้าน  จะเลี้ยงยากกว่าที่คุณเลี้ยงเองเพราะระบบการเลี้ยงไม่เหมือนกัน ทั้งยังมีผลทางจิตใจต่อเด็กเมื่อโตขึ้น เด็กคิดว่าคุณไม่รักแก แต่รักลูกอีคนหนึ่งมากกว่าจึงเอาแกให้คนอื่นเลี้ยง

คุณควรเลือกที่จะเลี้ยงลูกเสียเอง แล้วให้คนอื่นมาช่วยทำงานบ้านจะดีกว่า คุณพ่อลูกแฝดจะต้องร่วมมือกับคุณแม่อย่างมากในเรื่องนี้ เพราะคุณแม่เหนื่อยเกินไปไม่มีเวลาพักผ่อนเพียงพอ เต้านมจะผลิตน้ำนมได้น้อยลง ถ้าหาคนช่วยทำงานไม่ได้ คุณพ่อก็อาจต้องทนกินอาหรปิ่นโตหรืออาหารสำเร็จรูปไปพลาง ๆ ก่อน และช่วยคุณแม่ซักผ้า ทำความสะอาดบ้านบ้าง หรือถ้าคุณมีเงินก็อาจจ้างซักรีด ถ้าไม่มีคนรับจ้างซักรีด ก็ลงทุนซื้อเครื่องวักผ้า เพื่อผ่อนเบาภาระจะดีกว่า

การเลี้ยงลูกแฝดด้วยนมแม่นั้นเป็นไปได้ ถ้าคุณแม่พยายามปั๊มนมอย่างสม่ำเสมอในช่วงที่ลูกอยู่ในตู้อบ (ลูกแฝดส่วนใหญ่น้ำหนักแรกเกิดมักต่ำกว่า 2.5 กิโลกรัม ทางโรงพยาบาลจึงต้องเอาใส่ตู้อบเช่นเดียวกับเด็กที่ไม่ครบกำหนด) หรือให้เด็กอื่นช่วยดูดเพื่อกระตุ้นน้ำนม คุณควรพยายามให้มากในเรื่องนี้ เพราะเด็กยิ่งอ่อนแอ น้ำนมก็ยิ่งจำเป็น ถ้าคุณเลี้ยงด้วยนมแม่ได้ทั้งสองคนก็จะดีมาก แต่ถ้าน้ำนมไม่พอ ควรให้นมแม่สลับกับนมวัวทั้งสองคน นอกจากในกรณีที่น้ำหนักของเด็กแตกต่างกันมาก (เช่น คนหนึ่งหนัก 2.8 กิโลกรัม อีกคนหนักเพียง 2.4 กิโลกรัม ถ้าเป็นเช่นนี้ควรเน้นให้นมแม่ที่ลูกคนที่น้ำหนักเบากว่า เมื่อคนตัวเล็กแข็งแรงขึ้น จึงค่อยให้นมด้วยวิธีสลับ (นมแม่สลับนมวัว) เหมือนกันทั้งสองคน ควรเปลี่ยนไปเลี้ยงด้วยนมวัวล้วน ๆ ก็ต่อเมื่อนมแม่ไม่มีจริง ๆ

คุณแม่ที่มีลูกแฝด โดยเฉพาะลูกแฝดที่เกิดจากไข่ใบเดียวกัน แล้วหน้าตาเหมือนกันจนคนอื่นจำผิดบ่อย ๆ นั้นคุณแม่มักนิยมแต่งตัวให้เหมือนกัน เพราะใคร ๆ ก็เห็นลูกแฝดเป็นของแปลก ยิ่งแต่งตัวให้เหมือนกันเปี๊ยบ ก็ยิ่งเรียกร้องความสนใจจากคนรอบด้าน แต่ที่จริงคุณพ่อคุณแม่ลูกแฝดไม่ควรเน้นเรื่องความเหมือนกันของลูก เพราะถึงแม้เด็กจะเหมือนกันเพียงไรก็ตาม แต่ก็เป็นคนละคนกัน เด็กควรได้รับการยอมรับความเป็นเอกเทศจองตน ทั้งคุณพ่อคุณแม่และตัวเด็กเอง จะต้องสำนึกอยู่เสมอว่าทั้งสองคนเป็นคนละคนกันและไม่ขึ้นต่อกัน เมื่อเด็กโตพอที่จะรู้ว่าอะไรเป็นของใครแล้ว (ประมาณขวบเศษ) น่าจะให้ลูกสวมใส่เสื้อผ้าที่แตกต่างกัน เพื่อเน้นความเป็นเอกเทศของแต่ละคน

ไปหน้าแรก  การเลี้ยงดูลูก

เกี่ยวกับผู้เขียน

การเลี้ยงดูลูก เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์และเป็นสิ่งที่ยากที่จะเลี้ยงดูให้เด็กเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดี การเสาะแสวงหาความรู้และประสบการณ์ในเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่จำเป็นและหลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับคนที่เป็นพ่อและแม่ ดังนั้นผมจึงมีความคิดและนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูก ตั้งแต่แรกเกิดจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เอามาแชร์ให้กับบรรดาคุณพ่อคุณแม่ทั้งหลาย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีประโยชน์และสามารถนำเอาไปใช้ได้จริง

บทความที่น่าสนใจ

Powered by Blogger .