ความสำคัญของนมแม่ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่คือการให้ความรัก การให้นมลูก

การให้นมแม่กับเด็กแรกเกิด

การให้นมแม่กับเด็กแรกเกิด

“ไม่ต้องรีบร้อน”

การที่จะตัดสินใจว่านมแม่พอหรือไม่นั้นไม่ใช่ทำได้ง่ายนัก ถึงแม้เต้านมจะมีขนาดใหญ่ ก็ไม่แน่ว่าจะมีน้ำนมมาก สำหรับคุณแม่ใหม่ซึ่งเพิ่งมีลูกคนแรก สัปดาห์แรกน้ำนมมักไม่ค่อยพอ ดังนั้นน้ำหนักของเด็กจึงมักจะลดลงกว่าเมื่อแรกเกิดเล็กน้อย

ในช่วงสัปดาห์แรก ถ้าวัดปริมาณนมแม่โดยวัดน้ำหนักเด็กด้วยเครื่องวัดอย่างละเอียดก่อนและหลังให้นมแล้ว จะเห็นว่าส่วยใหญ่ปริมาณนมที่ออกแต่ละครั้งอย่างมากก็คือ 50 ซีซี คุณแม่ที่อยู่โรงพยาบาลเห็นเด็กข้าง ๆ ดูดนมวัวจากขวดครั้งละ 80-90 ซีซี ก็วักกังวลคิดว่าต้องเพิ่มนมให้ลูกเสียแล้ว แต่ที่จริงถ้าพยายามให้นมต่อไปอีกสัปดาห์หนึ่ง ในสัปดาห์ที่สอง ปริมาณก็จะเพิ่มขึ้นเป็นครั้งละ 70-80 ซีซี ตามธรรมชาติ


นมวัวนั้นถ้าทดลองให้เด็กดูแล้วเด็กจะติดใจ เพราะมีรสหวาน เนื่องจากมีน้ำตาลผสมอยู่ ทั้งหัวนมยางก็ดูดง่ายกว่าหัวนมแม่ ทำให้เด็กไม่อยากดุดนมแม่ แต่ถ้าให้นมแม่จนหมดแล้ว เด็กยังร้องหิวและทำอย่างไร ๆ ก็ไม่หยุด ถ้าจำเป็นจะเติมนมวัวให้ก็ได้ แต่ถึงกระนั้นก็ตามคุณต้องพยายามให้นมแม่ตลอดสองสัปดาห์ เพราะนมมักจะมีมากขึ้นหลังจากนั้น

“วิธีทำให้มีน้ำมาก”

วิธีที่ดีที่สุด ที่จะทำให้เต้านมที่แห้งค่อยมีน้ำนมและคัดขึ้นมาคือการให้เด็กดูดแรง ๆ

ในระยะแรก ไม่ว่าแม่คนไหนก็ไม่มีน้ำนมมาก น้ำนมแม่จะมีมากขึ้นก็ต่อเมื่อให้เด็กดูดแรง ในกรณีที่เด็กดูดนมไม่แรง (เด็กคลอดก่อนกำหนด) คุณอาจให้เด็กคนอื่นช่วยดูดเพื่อกระตุ้นให้มีน้ำนมมากขึ้นก็ได้

วันที่สามที่สี่หลังคลอด เต้านมจะคัดแข็งขึ้นมาและอาจมีก้อนแข็งที่เต้านมได้ ซึ่งก้อนนี้ไม่ใช่ “เต้านมอักเสบ” ในระยะนี้คุณอาจให้คนช่วยนวดเต้านมให้หรือจะนวดเองก็ได้ โดยใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นประคบเต้านมประมาณ 2-3 นาที หลังจากนั้นก็เริ่มนวดโดยเลี่ยงจุดที่แข็งเป็นก้อน วิธีนวด ใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้จับเต้านมแล้วรูดมือเบาๆ  จากฐานถึงหัวนม ต้องอย่าให้รู้สึกเจ็บ เพราะถ้ารู้สึกเจ็บ จะเกิดปฏิกิริยาทำให้ผลิตน้ำนมได้น้อยลง การนวดเต้านมทำให้แม่รู้สึกสบายขึ้น ซึ่งจะมีผลให้ร่างกายผลิตน้ำนมได้มากขึ้น

วิธีทำให้มีน้ำนมมากอีกอย่างหนึ่งคือ การกินอาหารที่มีประโยชน์ให้พอเพียง คุณควรดื่มนมมาก ๆ ทุกวัน คนเฒ่าคนแก่มักจะแนะนำให้คุณแม่กินแกงเลียง คุณก็ควรปฏิบัติตาม เพราะนอกจากจะทำให้ผู้ใหญ่สบายใจแล้ว คุณเองก็สบายใจด้วย ทั้งแกงเลียงก็ไม่มีพิษมีภัยอะไร และยากระตุ้นน้ำนมขนานเอกก็คือ “ความสบายใจ” ของคุณแม่ ถ้าคุณว้าวุ่น หงุดหงิด คิดมาก ร่างกายของคุณจะผลิตน้ำนมได้น้อยลง

วิธีกระตุ้นน้ำนมอีกประการหนึ่งคือ ก่อนให้นมลูกสักครึ่งชั่วโมง ควรดื่มเครื่องดื่มร้อน ๆ สักหนึ่งแก้ว จะช่วยให้การหลั่งของนมดีขึ้น การที่โบราณแนะนำให้กินแกงเลียงก็เพราะ นอกจากจะประกอบด้วยไก่ กุ้งและผักหลายชนิดแล้ว ยังมีพริกไทยเล็กน้อย และกินร้อน ๆ เพื่อกระตุ้นน้ำนมนั่นเอง


“ไม่ต้องเคร่งครัดเรื่องเวลาให้นม”

ก่อนที่คุณจะออกจากโรงพยาบาล หัวหน้าพยาบาลอาจจะแนะนำให้คุณให้นมลูกทุก 3 ชั่วโมง แต่ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามโดยเคร่งคัด มิใช่ว่าถ้าคุณไม่ให้นมลูกทุก 3 ชั่วโมง ตรงตามเวลาเปี๊ยบแล้วลูกของคุณจะกลายเป็นคนไม่มีระเบียบเมื่อโตขึ้น สำหรับเด็กที่เลี้ยงด้วยนมวัว เราวัดปริมาณนมในขวดได้ เมื่อให้เท่ากันทุกครั้ง เด็กก็ย่อมจะคุ้นเคยกับการกินเป็นเวลา

แต่สำหรับเด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่นั้น ปริมาณของนมแม่อาจไม่เท่ากันทุกครั้ง ปริมาณที่เด็กดูดแต่ละครั้งก็ไม่เท่ากัน โดยเฉพาะในระยะเดือนแรก เมื่อปริมาณนมในท้องแต่ละครั้งไม่เท่ากัน เด็กจะร้องหิวเมื่อเวลาผ่านไปเพียงหนึ่งชั่วโมงให้หลัง หรือบางครั้งอาจจะอยู่ถึง 3 ชั่วโมงก็มี

ในระยะเดือนแรก ตอนกลางวัน คุณอาจต้องให้นมลูกทุก 2 ชั่วโมงก็ไม่เป็นไร เมื่อย่างเข้าเดือนที่สอง ปริมาณนมแม่จะเพิ่มขึ้นและลูกดูดนมได้มากขึ้น ระยะเวลาให้นมก็จะค่อย ๆ ห่างขึ้นเป็น 3 ชั่วโมง ระยะ 1-2 เดือนแรกนี้ คุณต้องให้นมตอนกลาคืนประมาณสองครั้ง เพราะเด็กจะตื่นขึ้นมาร้องหิว

“ควรให้นมทุกครั้งที่ร้องหรือไม่”

การไม่เคร่งครัดเรื่องเวลาให้นมหรือจำนวนครั้งที่ให้นมนั้น มิได้หมายความว่าจะต้องให้นมทุกครั้งที่เด็กร้อง

ประการแรก คุณต้องดูเสียก่อนว่าผ้าอ้อมเปียกอยู่หรือไม่ เด็กอาจร้องเพราะรำคาญที่ผ้าเปียกและจะหยุดร้องเมื่อคุณเปลี่ยนให้

อีกประการหนึ่ง อาจเป็นที่อุปนิสัยของเด็ก เด็กขี้แยก็มี เด็กประเภทนี้จะร้องทั้ง ๆ ที่ยังอิ่มพุงกางอยู่ พออุ้มก็เงียบ บางคนกลัวว่า อุ้มบ่อย ๆ แล้วเด็กจะติดและต้องอุ้มอยู่เรื่อย ๆ แต่ถ้าคุณแก้ด้วยวิธีอื่นแล้วไม่เงียบคุณควรจะอุ้ม เพราะดีกว่าปล่อยให้เด็กร้อง

นอกจากสองกรณีข้างต้นแล้ว สำหรับเด็กอายุหนึ่งสัปดาห์นั้น ถ้าร้องก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า คงจะหิวคุณไม่ต้องกลัวว่าถ้าให้นมลูกทุกครั้งที่ร้องแล้ว เด็กจะกินนมมากเกินไป เพราะนมแม่นั้นมีไม่พอให้เด็กกินจนเกิดนความต้องการหรอก ถ้านมแม่มีมากจริงเด็กก็คงไม่ร้องบ่อย ๆ เมื่อนมแม่มีเพียงพอ วิธีการให้นมทุกครั้งที่ร้องนั้น จะเป็นไปโดยธรรมชาติ คือปล่อยให้เด็กเป็นฝ่ายกำหนดเวลา และปริมารที่ดูดเอง วิธีให้นมตามธรรมชาตินั้นมีความสุขกว่าการให้ตามตารางเวลา เพราะเด็กไม่ต้องถูกปลุกเมื่อถึงเวลาให้นม ทั้ง ๆ ทีเพิ่งเหลับหรือกำลังหลับสบาย ถ้านมแม่มีมากพอและเด็กดูดได้มาก อาจมีบางวันที่ให้นมเพียง 5 ครั้งเท่านั้นเด็กก็ได้นมเพียงพอ

วิธีให้นมทุกครั้งที่ร้องนั้นมีข้อเสีย 2 ประการ ในกรณีที่นมแม่ไม่พอ คือ แม่ต้องให้ทุกชั่วโมงหรือชั่วโมงครึ่ง ทำให้แม่ไม่ค่อยมีเวลาพักผ่อน เมื่อพักผ่อนไม่พอ ร่างกายก็จะผลิตนมได้น้อยลงไปอีกทกให้เด็กกินนมได้น้อยลงและยิ่งร้องบ่อยขึ้น ข้อเสียอีกอย่างหนึ่งคือ เมื่อนมไม่ค่อยพอต้องให้บ่อย ๆหัวนมอาจเป็นแผล ทำให้ไม่สามารถให้นมได้

สำหรับแม่ที่มีน้ำนมน้อย หลังจากพยายามให้นมลูกอยู่พักหนึ่ง มักจะต้องหยุดให้ด้วยสาเหตุสองประการข้างต้น แม้แต่แม่ที่มีน้ำนมมากในตอนหลังก็คงจำได้ว่า ในช่วงสองสัปดาห์แรกคุณก็ต้องให้นมลูกเกือบทุกสองชั่วโมงเหมือนกัน
ในกรณีที่ต้องให้นมลูกบ่อย ๆ เมื่อลูกร้องคุณไม่จำเป็นต้องให้นมทันที แต่ลองให้น้ำสุกประมาณ 30-50 ซีซี เสียก่อน เพื่อยืดระยะเวลาระหว่างการให้นมให้ห่างเกินสองชั่วโมงขึ้นไป ทำอย่างนี้ไม่นานคุณแม่หลายคนจะรู้สึกว่าจู่ ๆ นมแม่ก็มีมากขึ้นอย่างน่าแปลกใจ

ถ้าคุณให้นมลูกไปแล้วกว่าสองชั่วโมง แต่นมยังไม่คัดและเมื่อให้นมลูกครั้งต่อไป ปรากฏว่าเสร็จแล้วไม่ถึง 30 นาที เด็กร้องขึ้นมาอีกอุ้มก็แล้ว  ทำอะไรก็แล้ว ก็ยังไม่หยุดร้อง ถ้าเป็นเช่นนี้บ่อย ๆ แสดงว่าปริมาณน้ำนมแม่อาจไม่พอจริง ๆ แต่สำหรับระยะแรกเกิดถึงสองสัปดาห์นั้น นมแม่ไม่พอนิดหน่อยไม่เป็นไร คุณควรชั่งน้ำหนักเด็กเมื่ออายุได้ครบ 15 วัน ถึงแม้น้ำหนักจะเพิ่มจากเมื่อแรกเกิดเพียง 200 กรัม ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าน้ำหนักไม่เพิ่มเลยคุณจะต้องเพิ่มนมให้ โดยใช้นมวัว (เพิ่มด้วยนมวัว ไม่ใช่เปลี่ยนไปเลี้ยงด้วยนมวัว)

“วิธีให้ลูกดูดนม”

แม่ใหม่ที่ยังไม่เคยให้นมลูกดูด มักจะให้ลูกดูดเฉพาะตรงหัวนมแต่แม่ที่เคยเลี้ยงลูกมา 2-3 คนแล้วจะไม่ทำอย่างนั้น แต่จะให้ลูกดูดถึงส่วนที่เป็นสีคล้ำรอบ ๆ หัวนมด้วย เมื่อเด็กอ้าปาก คุณควรใช้นิ้วคีบเต้านมแล้วใส่เข้าไปในปากให้ลึกเต็มปาก

เนื่องจากคุณแม่ต้องใช้นิ้วคีบเต้านมเวลาให้นม เพราะฉะนั้นคุณควรล้างมือให้สะอาดก่อนให้นม ถ้าคุณแม่ยังยังไม่ได้อาบน้ำ ควรเช็ดเต้านมให้สะอาดเสียก่อน แต่ถ้าอาบน้ำแล้วและใส่เสื้อชั้นในที่สะอาอยู่เสมอ ก็ไม่จำเป็นต้องฆ่าเชื้อโรคบริเวณเต้านมทุกครั้งที่ให้ เพราะหัวนมนั้นแตกเป็นแผลได้ง่าย ถ้าใช้สำสีชุบแอลกอฮอล์เช็ดแรง ๆ บ่อย ๆ อาจเป็นแผลได้

คุณอาจใช้สำสีชุบน้ำต้มสุกเช็ดบริเวณหัวนมเบา ๆ ก่อนให้นมก็เพียงพอ และใช้น้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ทาหัวนมวันละ 1-2 ครั้ง จะช่วยให้หัวนมไม่แตก

เวลาให้นม ควรให้ในท่านั่ง ไม่ควรนอนให้นมจนกว่าเด็กจะอายุเกิน 3 เดือน เพราะเวลาให้นมคุณจะรู้สึกสบายแล้วเผลอหลับไป เกิดอุบัติเหตุเต้านมอาจทับจมูกเด็กจนหายใจไม่ออกได้ เมื่อเด็กอายุได้ 4 เดือนแล้ว คุณอาจนอนให้นมได้ เพราะถ้าคุณเผลอหลับนมไปทับจมูกเด็ก เด็กจะดิ้นจนทำให้คุณรู้สึกตัว

สำหรับเด็กที่ชอบแหวะนม ไม่ว่าคุณจะให้ในท่าใดก็ตาม หลังให้นมคุณจะต้องอุ้มเด็กขึ้น ให้หลังของเด็กตรงเพื่อให้เรอออกมา เพราะเวลาเด็กดูดนมจะดูดเอาอากาศเจ้าไปด้วย เมื่ออากาศเข้าไปอยู่เต็มกระเพาะ ถ้าเด็กเรอในท่านอน นมที่กินข้าไปจะหลออกมาด้วย ดังนั้นหลังจากให้นม จึงต้องจับตัวเด็กให้ตรงตั้งได้ฉากแล้วลูบหลังเด็กเบา ๆ จะได้เรอเอาแต่ลมออกมา แต่มีเด็กหลายคนที่ถึงแม้จะไม่จับเรอ ก็ไม่แหวะนมเลย เรื่องนี้จะเป็นปัญหาสำหรับเด็กที่แวะนมบ่อย ๆ เท่านั้น

เกี่ยวกับปัญหาที่ว่าจะให้นมทีละข้างดี หรือสองข้างดีนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณนม ถ้าเด็กดูดข้างเดียวอิ่มก็ให้ข้างเดียวได้ แต่อย่างไรก็ตามในระยะสองสัปดาห์แรกควรให้ทั้งสองข้างเพื่อป้องกันไม่ให้หัวนมแตกและอย่าให้เด็กดูดข้างหนึ่งข้างใดนานเกินไป โดยเฉพาะเมื่อดูดข้างหนึ่งครบ 10 นาที ภายใน 10 นาที เด็กจะดูดนมที่มีอยู่แต่ละข้างได้เกือบหมด เพราะฉะนั้น เมื่อดูดข้างหนึ่งครบ 10 นาทีแล้วก็เปลี่ยนข้างได้ หลังจากสองสัปดาห์ไปแล้ว อาจให้ดูดแต่ละข้างเกิน 10 นาทีได้ แต่รวมกันสองข้างแล้วไม่ควรเกิน 30 นาที


เกี่ยวกับผู้เขียน

การเลี้ยงดูลูก เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์และเป็นสิ่งที่ยากที่จะเลี้ยงดูให้เด็กเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดี การเสาะแสวงหาความรู้และประสบการณ์ในเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่จำเป็นและหลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับคนที่เป็นพ่อและแม่ ดังนั้นผมจึงมีความคิดและนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูก ตั้งแต่แรกเกิดจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เอามาแชร์ให้กับบรรดาคุณพ่อคุณแม่ทั้งหลาย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีประโยชน์และสามารถนำเอาไปใช้ได้จริง

บทความที่น่าสนใจ

Powered by Blogger .