ความสำคัญของนมแม่ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่คือการให้ความรัก การให้นมลูก

ความเข้าใจผิดเรื่อง น้ำนมแม่ไม่พอ



ความเข้าใจผิดเรื่อง น้ำนมแม่ไม่พอมีแม่จำนวนมากที่บอกว่า ต้องเปลี่ยนไปเลี้ยงลูกด้วยนมวัวเพราะนมไม่พอ แต่การตัดสินว่านมแม่ไม่พอเมื่อเลี้ยงเด็กได้เพียง 15 วันนั้นเร็วเกินไป แม่บางคนชั่งน้ำหนักลูกดูแล้วเห็นว่าน้ำหนักน้อยไป ก็เหมาเอาว่าเป็นเพราะนมแม่ไม่พอ ที่จริงเด็กที่มีนิสัยกินน้อยมาแต่กำเนิดก็มี

เด็กบางคนคลอดครบกำหนดแต่น้ำหนักไม่ถึง 3 กิโลกรัม เลี้ยงไปอีก 2 อาทิตย์ ก็ยังขึ้นไม่มาก ทั้ง ๆ ที่เด็กนอนหลับกลางคืนก็ไม่ค่อยกวน กินนมแม่เว้นช่วงครั้งละ 2 ชั่วโมงบ้าง 2 ชั่วโมงครึ่งบ้า แต่กินไม่มาก กินนมข้างเดียวก็อิ่มแล้วหลับไปเลย อย่างนี้แสดงว่านมแม่พอ แต่เด็กกินน้อยเพราะอุปนิสัยเด็กเป็นอย่างนั้นเอง

แม่บางคนเห็นลูกท้องผูก ไม่ถ่ายอุจจาระวันหรือสองวัน ก็เกรงว่าเป็นเพราะนมไม่พอ แต่ถึงแม้เด็กจะอึน้อยลง ถ้าเด็กนอนหลับดีหลังให้นม ตอนกลางคืนก็ไม่ร้องกวน และนมแม่คัดดีแล้วละก็ แสดงว่านมพอ ถ้ายังไม่แน่ใจลองชั่งน้ำหนักดู ถ้าน้ำหนักขึ้นวันละ 20-30 กรัม ก็ใช้ได้

การที่เด็กร้องกวนบ่อย ๆ แล้วจะสรุปง่าย ๆ ว่าเด็กร้องเพราะนมแม่ไม่พอไม่ได้เหมือนกัน เพราะ “เด็กขี้แย” ตั้งแต่เกิดก็มี เด็กประเภทนี้ท้องอิ่มก็ยังร้องกวน นอกจากนั้นประเภท “เด็กกินจุ” ก็มี เด็กประเภทนี้จะร้องกินมากกว่าเด็กทั่ว ๆ ไป

การจะฟังเสียงร้องของเด็กว่าร้องเพราะนมไม่พอจริง ๆ หรือเปล่านั้น ต้องพึ่งผู้ชำนาญ โดยทั่วไปแล้วเด็กกินจุจะอ้วนท้วนดี แต่เด็กที่กินนมไม่พอนั้นมักจะผอม ถ้าเด็กกินนมหมดสองข้างแล้วยังร้องอยู่ คุณลองชงนมให้อีกสัก 50 ซีซี. ถ้าเด็กดูดหมดอย่างรวดเร็ว ก็แสดงว่านมแม่คงไม่พอ เพราะเด็กอายุครึ่งเดือนนั้น ปกติจะกินนมประมาณ 80-100 ซีซี. ถ้ากินนมวัวหมด 50 ซีซี. อย่างรวดเร็ว ก็แสดงว่านมแม่รวมสองข้างแล้วมีน้อยกว่า 50 ซีซี.

ถ้าอยากจะตรวจสอบดูให้แน่ใจว่านมแม่พอหรือไม่ ต้องใช้เครื่องชั่งอย่างละเอียด ชั่งน้ำหนักเด็กก่อนและหลังให้นม ปกติตามบ้านมักไม่มีเครื่องชั่งแบบนี้ จึงมักชั่งเมื่อไปหาหมอ (แต่ที่จริงคุณไม่ควรพาลูกไปหาหมอบ่อย ๆ ถ้าไม่ได้ป่วยหรือพาไปฉีดวัคซีนเพราะเด็กมีโอกาสติดเชื้อโรคจากร้านหมอหรือโรงพยาบาลได้ โดยเฉพาะเด็กอ่อน คุณอาจขอยืมเครื่องชั่งของตามร้านใกล้บ้าน แล้วเอาลูกใส่ตะกร้าชั่งก็ได้) หมอก็จะคำนวณน้ำหนักเด็กว่าเพิ่มเติมเฉลี่ยวันละเท่าไร ถ้าเพิ่มตั้งแต่วันละ 20-30 กรัมขึ้นไป ไม่ว่าเด็กจะร้องยังไง หมอก็จะแนะนำให้เลี้ยงด้วยนมแม่ต่อไป แต่ถ้าน้ำหนักเพิ่มต่ำว่าวันละ 20 กรัม และนมแม่ไม่มากขึ้น ก็คงจะเลี้ยงด้วยนมแม่อย่างเดียวไม่พอ สำหรับในกรณีที่น้ำหนักเด็กเพิ่มเฉลี่ยอยู่ในระหว่างวันละ 20-30 กรัม หมอจะดูท่าทีของคุณแม่ว่าเป็นอย่างไร ถ้าดุท่าทางคุณแม่สนใจเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะเห็นคุณประโยชน์องนมแม่ ก็คงแนะนำให้พยายามเลี้ยงด้วยนมแม่ แต่ถ้าดูท่าทางคุณแม่เป็นคนเจ้าอารมณ์ พอลูกร้องกวนบ่อย ๆ จะหงุดหงิด ชอบให้ลูกนอนไม่กวนละก็ คงแนะนำให้คุณแม่ใช้นมวัวเลี้ยงด้วย ถึงแม้ว่าน้ำหนักเฉลี่ยจองเดก็จะเพิ่มเพียงวันละ 25 กรัม ถ้าเด็กไม่กวน กลางคืนก็นอนหลับดี ท้องก็ไม่ผูก ถ่ายทุกวัน หมดคงบอกว่า “ไม่เป็นไรคุณเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้แน่” และเพื่อหมอให้กำลังใจเช่นนี้นมแม่มักจะไหลดีขึ้น

ถึงแม้น้ำหนักเด็กจะเพิ่มเฉลี่ยเพียงวันละ 20 กรัม แต่ถ้าแม่ตั้งใจจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จริง ๆ แล้ว หมอจะแนะนำว่า “คุณลองให้นมวัวแก่ลูกวันละครั้งเดียวดูก่อน เลือกให้ตอนที่นมแม่ไม่ค่อยจะมี” ส่วนใหญ่แล้วช่วงตอนเย็นระหว่าง 4 โมงถึง 6 โมงเย็น จะเป็นช่วงที่นมแม่ไม่ค่อยคัด คุณก็ให้นมวัวแก่ลูกตอนนี้ แล้วพักนมแม่เสียหนึ่งครั้ง นมแม่เมื่อได้พักครั้งต่อไปก็จะคัดดี ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ นมแม่จะมีมากขึ้นจนกระทั่งพอเลี้ยงลูกได้ทั้งวัน

เมื่อนมแม่ไม่พอ แล้วเพิ่มนมวัวให้ลูกวันละครั้งได้สัก 5 วันหรือหนึ่งสัปดาห์ คุณควรชั่งน้ำหนักลูกดู ถ้าน้ำหนักเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นกว่าเดิม ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าน้ำหนักเฉลี่ยไม่เพิ่มขึ้น แสดงว่านมแม่ไม่พอจริง ๆ คุณต้องหันไปเลี้ยงลูกด้วย “วิธีสลับ” คือเลี้ยงด้วยนมแม่สลับกับนมวัว

ในกรณีที่นมแม่ไม่พอ แต่คุณตั้งใจจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นหลัก คุณไม่ควรใช้วิธีให้นมวัวตามทุกครั้งหลังจากให้นมแม่ เพราะถ้าใช้วิธีนี้ คุณจะไม่ตั้งใจให้นมแม่แก่ลูกเท่าที่ควร เพราะคุณจะคิดอยู่เสมอว่า “ไม่เป็นไร เดี๋ยวนมไม่พอเราก็ให้นมชงเติมได้” และเมื่อแม่ไม่พยายามเต็มที่ นมแม่ก็จะไม่ค่อยไหล

สำหรับชนิดของนมวัวที่จะเลือกเพิ่มให้ลูกนั้น จะเลือกประเภทนมผงหรือนมกระป๋องสำหรับเลี้ยงทารกก็ได้ แต่ถ้าใช้นมผง ควรซื้อกระป๋องเล็กในช่วง 3 เดือนแรก ซึ่งเป็นระยะที่ลูกกินนมไม่มาก เพราะเมืองเราเป็นเมืองร้อน นมผงที่เปิดกระป๋องทิ้งไว้ในอากาศร้อนนานกว่าครึ่งเดือนนั้นไม่ปลอดภัย ถ้าเป็นไปได้ เมื่อเปิดกระป๋องแล้วคุณควรเก็บไว้ในตู้เย็น




เกี่ยวกับผู้เขียน

การเลี้ยงดูลูก เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์และเป็นสิ่งที่ยากที่จะเลี้ยงดูให้เด็กเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดี การเสาะแสวงหาความรู้และประสบการณ์ในเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่จำเป็นและหลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับคนที่เป็นพ่อและแม่ ดังนั้นผมจึงมีความคิดและนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูก ตั้งแต่แรกเกิดจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เอามาแชร์ให้กับบรรดาคุณพ่อคุณแม่ทั้งหลาย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีประโยชน์และสามารถนำเอาไปใช้ได้จริง

บทความที่น่าสนใจ

Powered by Blogger .