ความสำคัญของนมแม่ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่คือการให้ความรัก การให้นมลูก

การเลือกนมวัวสำหรับเลี้ยงเด็กทารก

นมวัวสำหรับเลี้ยงทารก

ในปัจจุบัน เมื่อกล่าวถึงนมวัวสำหรับเลี้ยงทารก ก็เกือบจะหมายถึง นมผงสำหรับเลี้ยงทารกเลยทีเดียว เพราะตระเตรียมสะดวก จึงเป็นที่นิยมกันมาก

สำหรับคุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมผง ประการแรกมักเกิดปัญหาว่า จะเลี้ยงลูกด้วยนมตราอะไรดี ที่จริงคุณจะเลี้ยงลูกด้วยนมตราอะไรก็ได้ แต่ควรเลือกตราที่ร้านเจ้าประจำของคุณขายดีเพราะนมจะไม่เก่าและเมื่อตัดสินใจเลี้ยงลูกด้วยนมตราอะไรแล้วละก็ ไม่ควรเปลี่ยน เพราะอย่างน้อยที่สุดเมื่อเด็กถ่ายอุจจาระบ่อยครั้งขึ้น คุณจะได้แน่ใจว่าสาเหตุไม่ได้มาจากนม

นมผงที่ขายอยู่ในท้องตลาดมีอยู่หลายชนิด แต่ละยี่ห้อก็โฆษณาว่านมของตนดีที่สุด แต่คุณแม่จะเลี้ยงลูกด้วยนมตราอะไรก็ได้ ไม่มีข้อจำกัดว่าถ้าคุณไม่เลี้ยงลูกด้วยนมตรานี้แล้วลูกคุณจะไม่โต เพราะกระเพาะของเด็กมีความสามารถในการย่อยนมได้หลายประเภท นมคนก็ย่อยได้ นมวัวก็ย่อยได้ ยิ่งถ้าคุณเลี้ยงลูกด้วยนมวัว ทั้งส่วนสูงและน้ำหนักจะเพิ่มเร็วกว่า แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า นมวัวดีกว่านมแม่ เพราะว่าถึงแม้ร่างกายเด็กจะเติบโตเร็ว แต่ก็เปรียบเสมือนรถยนต์ที่ใช้น้ำมันไม่ดี มีไอเสียเยอะ แต่ก็วิ่งเร็วเพราะกินน้ำมันจุ แต่พอวิ่ง ๆ ไปเครื่องยนต์อาจเกิดขัดข้องได้ เด็กทารกก็เช่นเดียวกัน ถ้าคุณให้กินนมมากเกินไป บางคนอาจจะเกิดขัดข้องเป็นโรค “เกลียดนม” ถึงแม้เด็กส่วนใหญ่จะไม่เป็นโรคนี้ แต่ในปัจจุบันกุมารแพทย์มักจะเกรงว่า ถ้าให้เด็กแบกร่างที่หนักอึ้งเสียตั้งแต่ยังเป็นทารก อาจเกิดอันตรายขึ้นในอนาคตได้

การเลี้ยงดูลูกด้วยนมวัว ไม่ควรคำนึงแต่เรื่องทำอย่างไรจะให้เด็กอ้วน แต่ควรคิดด้วยว่า ทำอย่างไรจะไม่ให้ระบบย่อยอาหารของเด็กทำงานหนักเกินไป คุณไม่ควรผสมนมให้เด็กข้นเกินไป  ที่จริงอัตราส่วนผสมนมที่เขียนไว้ข้างกระป๋องก็ข้นเกินไปสำหรับเด็กอยู่แล้ว ลำไส้ของทารกไม่สามารถดูดซึมนมที่ข้นเกินไปได้ โดยเฉพาะโปรตีน นมแม่มีโปรตีน 1.3 เปอร์เซ็นต์ นมวัวมี 3.3 เปอร์เซ็นต์ แต่ทารกสามารถย่อยโปรตีนของนมวัวได้น้อยกว่าโปรตีนของนมแม่ ดังนั้น ปัญหาสำคัญสำหรับคุณแม่ที่ต้องเลี้ยงลูกด้วยนมวัว จึงไม่ใช่เรื่องว่าควรเลือกนมตราอะไรดี แต่อยู่ที่ว่าคุณไม่ควรผสมนมให้ข้นเกินไปหรือจางเกินไป (เพื่อประหยัดนมซึ่งมีราคาแพง)

ในอเมริกา กุมารแพทย์จะเป็นผู้กำหนดอัตราส่วนผสมนมให้แก่เด็กเป็นราย ๆ ไป แต่สำหรับประเทศที่หมอไม่พออย่างของเรา หมอมักจะมีงานยุ่ง จนไม่มีเวลาดูแลเด็กแต่ละคนอย่างละเอียด จึงมักแนะนำให้คุณแม่ปฏิบัติตามสลากข้างกระป๋อง ผลก็คือเด็กมักจะได้รับนมที่ข้นเกินไป และทำให้อ้วนเกินไป กลายเป็น “เด็กยักษ์” เด็กยักษ์นั้น ดูภายนอกก็รูปร่างใหญ่โตดีอยู่หรอก แต่อวัยวะภายในนั้นคงจะเหนื่อยอ่อนกับภาระแบกรับน้ำหนักอยู่ไม่น้อยทีเดียว

โดยทั่วไปแล้ว สัดส่วนในการผสมนมผง ใช้นม 1 ช้อนเล็ก ผสมกับน้ำ 1 ออนซ์ (30 ซีซี.) และนม 1 ช้อนใหญ่ ผสมกับน้ำ 2 ออนซ์ ( 60 ซีซี ) ซึ่งทั้งช้อนเล็กและช้อนใหญ่นี้จะขึ้นอยู่ในกระป๋องของนมผงแต่ละชนิด
นอกจากปัญหา “เด็กยักษ์” เพราะได้รับการเลี้ยงดูดีเกินไป ซึ่งมักจะเป็นปัญหาของชนชั้นกลางขึ้นไป ซึ่งมีฐานะดีพอที่จะซื้อนมผงชนิดราคาแพงเลี้ยงลูกได้ ประเทศเรายังมีปัญหาเด็กผอมแกร็น เพราะขาดอาหารรวมทั้งปัญหา “เด็กอ้วนฉุ” แต่ขาดอาหารเพราะถูกแม่เลี้ยงด้วย “นมข้นหวาน” เนื่องจากแม่มีความรู้น้อย ไม่ทราบว่านมข้นหวานนั้นใช้เลี้ยงทารกไม่ได้ เพราะมีน้ำตาลมากเกินไป แต่มีโปรตีนและไขมันน้อยมาก ทำให้เด็กอ้วนเพราะน้ำตาล แต่ร่างกายกลับขาดธาตุอาหารที่สำคัญ คือ โปรตีน วิตามิน โดยเฉพาะวิตามินทำให้เด็กเป็นโรคที่ชาวบ้านเราเรียกว่า “เกล็ดกระดี่ขึ้นตา” (ซึ่งจะทำให้ตาดำขุ่น เป็นแผลแห้ง และบอดได้ในที่สุด) ปัญหานี้อาจแก้ได้ด้วยการรณรงค์โฆษณาให้แม่รู้ถึงโทษของการเลี้ยงลูกด้วยนมข้นหวาน

นอกจากนั้นยังมีแม่จำนวนไม่น้อยที่จำใจต้องเลี้ยงลูกด้วยนมข้นหวานทั้ง ๆ ที่รู้ว่าไม่ดี แต่ฐานะทางเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวยให้ซื้อนมผงเลี้ยงลูกเพราะราคาแพงเกินฐานะ จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ตัวแม่เองก็ขาดอาหารจนไม่มีน้ำนมจะเลี้ยงลูก สำหรับปัญหานี้ จะแก้ได้ก็ต่อเมื่อแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจได้เท่านั้น





เว็บสำหรับคุณแม่ http://www.dumex.co.th 




เกี่ยวกับผู้เขียน

การเลี้ยงดูลูก เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์และเป็นสิ่งที่ยากที่จะเลี้ยงดูให้เด็กเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดี การเสาะแสวงหาความรู้และประสบการณ์ในเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่จำเป็นและหลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับคนที่เป็นพ่อและแม่ ดังนั้นผมจึงมีความคิดและนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูก ตั้งแต่แรกเกิดจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เอามาแชร์ให้กับบรรดาคุณพ่อคุณแม่ทั้งหลาย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีประโยชน์และสามารถนำเอาไปใช้ได้จริง

บทความที่น่าสนใจ

Powered by Blogger .