
“ไม่มีอาหารอะไรที่ดีกว่านมแม่”
เป็นความจริง
ที่ว่าเด็กที่เลี้ยงด้วยนมวัวจะอ้วนท้วนกว่าเด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่
ทั้งนี้เพราะปริมาณของนมแม่ถูกจำกัดตามธรรมชาติ แต่นมวัวนั้นพอเด็กกินหมดไปขวดหนึ่งแล้วไม่พอก็เติมอีกขวดได้
ถ้าอยากจะให้เด็กที่กินจุกินเท่าไรก็ได้ตามใจชอบแล้วละก็ นมวัวจะดีกว่านมแม่
เพราะให้กินเท่าไรก็ได้ พอปล่อยให้กินตามใจชอบไปเรื่อย ๆ
ไม่นานเด็กนั้นก็กลายเป็น”เด็กยักษ์” มักเป็นที่นิยมในการโฆษณาขายนม
มีรูปปรากฏในโปสเตอร์ในหน้าหนังสือพิมพ์และในจอทีวี
ทำให้บรรดาคุณแม่นิยมเลี้ยงลูกด้วยนมวัวไปด้วย
“เด็กยักษ์”
ไม่จำเป็นต้องเป็นเด็กที่แข็งแรง แต่เป็นเด็กอ้วนเพราะมีไขมันมากเกินไป
การที่ต้องแบกไขมันส่วนเกินอยู่ ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักมาขึ้นโดยไม่จำเป็น
หัวใจเป็นอวัยวะสำคัญที่จะต้องทำงานโดยไม่หยุดไปตลอดชีวิต
การที่ให้แบกสัมภาระหนักอึ้งเสียตั้งแต่ยังเป็นเด็กอ่อนนั้นไม่ดีแน่
แม้ว่าในปัจจุบัน นมผงจะได้รับการปรับปรุงให้มีคุณภาพดีขึ้นเรื่อย ๆ ก็ตาม
แต่ถึงจะปรับปรุงอย่างไร
นมผงก็ยังเป็นนมวัวที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมาสำหรับเลี้ยงวัวอยู่นั่นเอง
สำหรับลูกคนนั้น นมคนย่อมดีกว่าและเหมาะสมกว่าอย่างแน่นอน
นมแม่นั้นนอกจากจะเป็นนมคนแล้ว
ยังเป็นนมที่ได้รับการเลือกสรรแล้วจากประชากรโลกหลายพันล้านคนว่าเหมาะสมที่สุดสำหรับลุก
การไม่ให้นมแม่แก่ลูกของคุณ เป็นการตัดสิทธิอันชอบธรรมของลูกคุณเอง
นมแม่ดีกว่านมวัวแน่นอน
เพราะโปรตีนในนมแม่ดูดซึมเลี้ยงร่างกายของเด็กได้ดีกว่าโปรตีนนมวัว โดยเฉพาะเด็กแรกเกิดถึง
3 เดือน ถึงแม้จะกินนมวัวเป็นจำนวนมาก ส่วนที่จะเป็นเลือดเป็นเนื้อนั้นมีน้อย
ดังนั้นคุณควรให้นมแม่แก่ลูกของคุณอย่างน้อยเป็นเวลาถึง 3 เดือน
“นมแม่สะดวกและปลอดภัย”
ไม่ว่าจะกลางดึกหรือในรถ
เพียงแต่เลิกเสื้อขึ้นคุณก็ให้นมแก่ลูกได้แล้ว คุณไม่ต้องไปหยิบกระป๋องนม
ไม่ต้องต้มน้ำ ไม่ต้องละลายนม ไม่ต้องต้มขวดเพื่อป้องกันเชื้อโรค
นมแม่นั้นผ่านการฆ่าเชื้อโรคมาเรียบร้อยแล้ว
ในนมแม่ไม่มีเชื้อโรคที่จะเป็นอันตรายต่อเด็ก
ไม่ว่าแถวบ้านคุณจะมีอหิวาต์หรือไทฟอยด์ระบาด
คุณก็ให้นมแก่ลูกของคุณได้อย่างสบายใจ
มักจะมีผู้ยกเอาสถิติขึ้นมากล่าวเสมอว่า
เด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่มีอัตราการตายต่ำกว่าเด็กที่เลี้ยงด้วยนมวัว
แต่สถิตินี้ที่จริงไม่ได้เป็นข้อพิสูจน์ว่านมแม่ดีกว่านมวัว
เพราะเด็กที่เกิดมาไม่ครบกำหนด น้ำหนักน้อยและมีอัตราการตายสูงนั้น
จัดอยู่ในประเภทที่เลี้ยงด้วยนมวัว แต่อย่างไรก็ตาม
เด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่มีโอกาสติดโรคทางปากและโอกาสที่อ้วนเกินไปน้อยกว่าเด็กที่เลี้ยงด้วยนมวัว
“การเลี้ยงด้วยนมแม่
ให้ประโยชน์แก่ตัวแม่ด้วย”
แม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะฟื้นตัวจากภาวะหลังคลอดเร็วกว่า
การที่เด็กดูดนมจะช่วยกระตุ้นให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น
แม่ที่ไม่ได้ให้นมลูกจะมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ง่ายกว่า
นอกจากนี้แม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังมีโอกาสเป็นมะเร็งที่เต้านมน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้ให้นมลูกอีกด้วย
ถึงแม้จะรู้อย่างนี้แล้ว
แต่ยังมีผู้ที่ไม่ยอมให้นมลูกเพราะกลัวหน้าอกจะหย่อยยาน ที่จริงการให้นมลูกไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้หน้าอกหย่อนยาน
แม่ที่เลี้ยงลูกหลายคนด้วยนมแม่แล้วยังมีหน้าอกที่สวยงามก็มี
คนที่ไม่เคยให้นมลูกเลยแต่หน้าอกยานก็มี
การที่หน้าอกเปลี่ยนแปลงนั้น
ประการแรกขึ้นอยู่กับลักษณะของเต้านม
สำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์แล้วหน้าอกไม่ขยายใหญ่มาก หลังจากให้นมลูกแล้วหน้าอกก็ไม่เปลี่ยนแปลงไปนัก
สำหรับคนที่หน้าอกใหญ่อยู่แล้ว พอตั้งครรภ์ก็ยิ่งขยายใหญ่ขึ้นไปอีกมาก
ถ้าปล่อยให้น้ำหนักถ่วงอยู่อย่างนั้นจนกระทั่งผิวหนังยืด
ถึงจะไม่ให้นมลูกหน้าอกก็จะยาน แต่ถ้าคอยระวังใส่เสื้อยกทรงให้กระชับอยู่เสมอ
ถึงจะให้นมลูก รูปร่างของหน้าอกก็จะไม่เปลี่ยนแปลง
มีคำกล่าวว่า
เด็กที่ดูดนมแม่จะมีอารมณ์ที่มั่นคงกว่าเด็กที่ดูดนมด้วยหัวนมยาง
และโตขึ้นจะเป็นคนที่มีความสุขกว่า แต่เรื่องนี้พิสูจน์ได้ยาก
อย่างไรก็ตาม
สำหรับแม่ที่ให้ลูกดูดนม ตัวแม่เองจะรู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่ให้นมลูก บวกกับความมั่นใจว่าตนได้เลี้ยงลูกด้วยวิธีที่ดีที่สุดแล้ว
เป็นผลให้ตัวแม่เองมีอารมณ์ที่มั่นคง
“สำคัญตอนเริ่มต้น”
เมื่อถามบรรดาคุณแม่ที่บอกว่าไม่น้ำนมให้ลูก
มักจะได้รับคำตอบว่า ไม่มีตั้งแต่ตอนที่อยู่โรงพยาบาล การที่แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่น้อยลงกับการที่คนนิยมคลอดลูกในโรงพยาบาลมากขึ้นนั้น
มีความสัมพันธ์กัน
เพราะพยาบาลในโรงพยาบาลมักจะไม่ค่อยสนใจเร่งรัดให้แม่พยายามอย่างที่สุดที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
คำแนะนำที่ดีที่สุดตอนนี้ก็คือ
คุณต้องทำตัว ทำใจให้สบายไร้กังวล และไม่ต้องสนใจกับการที่ครอบครัวหรือเพื่อนบางคนไม่สนับสนุนคุณในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
และไม่ควรไปตัดสิทธิอันชอบธรรมของลูกคุณด้วย
ควรจะเริ่มให้ลูกหักดูดได้ตั้งตะวันที่สองหลังคลอด
เมื่อคุณลุกขึ้นนั่งอุ้มลูกได้ ถึงแม้ว่ายังไม่รู้สึกคัดที่เต้านมก็ตาม เมื่อลูกเรืมดูดก็เป็นการกระตุ้นให้ต่อมน้ำนมสร้างน้ำนมได้เร็วขึ้นด้วย
เพราะฉะนั้นจึงควรจะเริ่มตั้งแต่ยังอยู่ในโรงพยาบาลเลย
สำหรับในกรณีที่คุณไม่อาจให้นมลูกได้ขณะที่ยังอยู่ในโรงพยาบาลนั้น
ควรปั๊มนมออกเป็นระยะ ๆ อาจจะเป็นทุก 3 ชั่วโมง เพื่อสร้างทางให้นมไหลไว้ และทำให้ต่อมน้ำนมสร้างน้ำนมติดต่อเหมือนกับถูกใช้โดยให้ลูกดูดนั่นเอง
เมื่อออกจากโรงพยาบาลคุณก็ควรจะได้เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ได้ทันที
แต่วิธีนี้ก็มิใช่ว่าจะทำให้แม่ทุกคนมีนมพอเลี้ยงลูกหลังออกจากโรงพยาบาล
เพราะมีบางคนที่มีน้ำนมน้อยตามธรรมชาติ แต่ทุกคนควรตั้งใจเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และพยายามให้ถึงที่สุดเสียก่อน
เมื่อไม่พอจริง ๆ จึงค่อยให้นมผสม
มีแม่คนหนึ่งที่คลอดลูกก่อนกำหนด
ลูกต้องอยู่ในเครื่องอบที่โรงพยาบาลเป็นเวลาหนึ่งเดือน
ในระหว่างนั้นแม่คนนี้นำนมแม่ที่ปั๊มออกไปให้ลูกที่โรงพยาบาลทุกวัน
เวลาอยู่บ้านก็กำหนดเวลาปั๊มนมเป็นระยะ ๆ หลังจากนั้นหนึ่งเดือน
เมื่อลูกกลับบ้านก็เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ทันทีและอย่างพอเพียง
เด็กคนนั้นเดี๋ยวนี้โตขึ้นแข็งแรงสมบูรณ์ทีเดียว
คุณแม่คนนั้นได้รับผลตอบแทนความยากลำบากอย่างคุ้มค่า
“สำหรับคุณแม่ที่ทำงานนอกบ้าน”
สำหรับครอบครัวที่มีคุณพ่อและคุณแม่ทำงานนอกบ้าน
เมื่อหมดระยะลาคลอด คุณแม่ก็จะฝากให้คนอื่นดูแลลูก เพราะต้องออกไปทำงาน
คุณแม่ประเภทนี้บางคนอาจคิดว่า “ไหน ๆ ก็จะต้องเลี้ยงลูกด้วยนมวัวอยู่แล้ว
ก็หัดให้กินเสียตั้งแต่แรกเสียเลย จะได้ชิน ไม่ต้องลำบากเปลี่ยนอีก”
ความคิดเช่นนี้ไม่ถูกต้อง เพราะในความเห็นของกุมารแพทย์
เด็กควรได้รับการเลี้ยงดูด้วยนมแม่อย่างน้อยเป็นเวลาถึง 3 เดือน
เพราะความสามารถของเด็กในการย่อยโปรตีนของนมวัวยังไม่สมบูรณ์จนกว่าอายุจะได้ 3
เดือน
ดังนั้นคนส่วนมากจึงมีความเห็นว่ากฎหมายควรจะกำหนดให้ผู้หญิงมีสิทธิ์ลาคลอดได้ 3
เดือน
น่าเสียดายที่ปัจจุบันกฎหมายไทยยังกำหนดให้ผู้หญิงมีสิทธิ์ลาคลอดได้เพียง
45 วันเท่านั้น แต่ถึงอย่างไรก็ตาม
คุณแม่ไม่ควรอ้างสาเหตุนี้ตัดสิทธิ์อันชอบธรรมของลูกโดยไม่ให้นมแม่เลย
ถึงแม้จะมีเวลาเพียง 45 วัน ในเมื่อนมแม่ดีกว่านมวัว
คุณแม่ก็ควรเลือกของที่ดีกว่าให้ลูกในช่วงเวลาที่ถูกจำกัดให้เพียง 45 วัน
แม่กับลูกควรใช้เวลาให้คุ้มและมีความสุขด้วยกันให้เต็มที่
มีแม่บางคนที่อยากเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทำไม่ได้เพราะตัวเองเป็นโรค
เช่น แม่เป็นวัณโรคปอดในระยะติดต่อ ต้องแยกลูกออกและเลี้ยงลูกด้วยนมผสม
แต่ถ้าไม่ได้เป็นมากและไม่ได้อยู่ในระยะติดต่อ ก็ให้นมลูกได้
โดยคุณแม่คาดผ้าปิดปากขณะให้นมลูก และต้องรับประทานอาหารให้เพียงพอ
เพราะตัวแม่จะเสียโปรตีนไปในขณะให้นมลูก
ในกรณีที่แม่เป็นโรคได
และต้องควบคุมโปรตีนในอาหาร การให้นมลูกจะทำให้สูญเสียโปรตีนไป
ฉะนั้นการเลี้ยงดูลูกด้วยนมแม่คงทำไม่ได้
ในกรณีที่แม่เสียเลือดมาก
และยังไม่ฟื้นตัวจากภาวะหลังคลอดก็คงให้นมลูกไม่ได้เช่นกัน
ถ้าแม่มีอาการตัวร้อนหลังคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ
แต่ไม่มีอาการอื่นและแข็งแรงดี
ในปัจจุบันมักทำการรักษาแม่ไปด้วยและให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไปด้วยในขณะเดียวกัน
เพราะอาการตัวร้อนที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียสามารถใช้ยาปฏิชีวนะรักษาได้ในระยะสั้น
ในกรณีที่หัวนมแม่แตกหรืออักเสบ
เฉพาะรายที่เป็นมาก จะให้พักนมข้างที่เป็นมากสักชั่วคราว
เมื่อดีขึ้นค่อยกลับมาให้ใหม่
แต้แต่เด็กที่เกิดมาปากแหว่งหรือเพดานโหว่ดูดนมแม่ลำบาก
ก็ควรพยายามเลี้ยงด้วยนมแม่ ในระยะแรกอาจลำบาก
แต่เมื่อชินแล้วเด็กก็จะดูดได้เก่งขึ้น
ไปหน้าแรก การดูแลแม่และเด็ก